การบริหารความเสี่ยงและโอกาสการดำเนินธุรกิจ
การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA พัฒนาแนวทางการบริหารความเสี่ยง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ อย่างยั่งยืน ตามแนวทาง Enterprise Risk Management – Integrating with Strategy and Performance ของ The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO) และ ISO 31000: 2018 Risk management – Guidelines ซึ่งสอดคล้องกับคู่มือปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน ปี 2555 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลังกำหนด และระบบการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Assessment Model : SE-AM)
MEA ได้วางแนวปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงองค์กรครอบคลุมตั้งแต่ คณะกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน โดยมีการบูรณาการหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ รวมทั้งบูรณาการเข้ากับแผนยุทธศาสตร์และเครื่องมือบริหารจัดการอื่น ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจน ดำเนินการตามกระบวนการบริหารความเสี่ยงองค์กรในการกำหนดวัตถุประสงค์ ระบุ ประเมิน การจัดการ รายงานและติดตามความเสี่ยง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ครอบคลุมความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ด้านปฏิบัติการ ด้านการเงิน และด้านกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร รวมทั้งได้พัฒนาระบบ MEA-GRC เพื่อช่วยสนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลความเสี่ยง การบริหารจัดการ และติดตามความเสี่ยง ซึ่งมีการบูรณาการข้อมูลระหว่างการบริหารความเสี่ยง ควบคุมภายใน และตรวจสอบภายใน เพื่อให้สามารถจัดการฐานข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ ได้สร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงและการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการพัฒนาและจัดวางระบบ มีการกำหนดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านการบริหารความเสี่ยงเชื่อมโยงกับค่านิยม C-H-A-N-G-E ขององค์กร มีการจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้บริหารและพนักงาน สื่อสารความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น วารสารภายใน MEATV เป็นต้น และจัดทำวารสารเพื่อสื่อสารผ่านช่องทางอื่น ๆ เช่น Line E-mail เป็นต้น รวมทั้งได้จัดงาน Risk Day 2020: Risk X Return มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานมีความตระหนักเกี่ยวกับความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk and Return) ซึ่งเชื่อมโยงกับค่านิยมขององค์กร มีการปาฐกถาพิเศษโดย พลโท ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ กรรมการการไฟฟ้านครหลวง ในหัวข้อ “MEA Risks and how to prepare” และการบรรยายโดย คุณกาญจน์ชนิต ธำรงบุญเขต จากบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อ “Digital Disruption: Risks, Opportunities and the Telco perspectives” พร้อมทั้งให้พนักงานมีส่วนร่วมผ่านการจัดประกวดคลิปสั้น ในหัวข้อ “ความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk and Return)
โครงสร้างการบริหารความเสี่ยงองค์กร
MEA กำหนดโครงสร้างการบริหารความเสี่ยงองค์กร เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงและการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจในแต่ละระดับดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล มีความครบถ้วนในทุก ๆ กิจกรรมหลัก และปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนเป็นวัฒนธรรมขององค์กร โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ดังนี้
- คณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับดูแล และสนับสนุนให้องค์กรดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ การควบคุมภายใน และการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
- คณะผู้บริหารการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ทำหน้าที่กำหนดกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ (Governance, Risk and Compliance (GRC Framework) รวมถึงการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ การควบคุมภายใน พร้อมทั้งพิจารณาและกำหนดแนวทางการตอบสนองความเสี่ยง ตลอดจนกำกับให้มีการปฏิบัติตามนโยบาย และสนับสนุนให้มีการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการบูรณาการระหว่างการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ
นอกจากนี้ ได้กำหนดให้ฝ่ายตรวจสอบภายในทำหน้าที่สอบทานและประเมินประสิทธิผลของการดำเนินงาน และรายงานผลต่อคณะกรรมการตรวจสอบในการไฟฟ้านครหลวงอย่างสม่ำเสมอ
การประเมินความเสี่ยง
จัดทำคู่มือการบริหารความเสี่ยง และมีการทบทวน/ปรับปรุงให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติตามกระบวนการบริหารความเสี่ยงทั้งระดับองค์กร และระดับหน่วยงานรวมทั้งแสดงความเชื่อมโยงระหว่างการบริหารความเสี่ยงกับกระบวนงานอื่น ๆ และเผยแพร่ภายในองค์กร นอกจากนี้ มีการติดตามและทบทวนความเสี่ยงสำคัญขององค์กรให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยจำแนกความเสี่ยงเป็น 4 ประเภท
1. ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์
2. ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ
3. ความเสี่ยงด้านการเงิน
4. ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ
• การทุจริตในองค์กร
MEA มุ่งมั่นในการสร้างวัฒนธรรม “MEA Zero Tolerance คน กฟน. ไม่ทนต่อการทุจริต” เพื่อป้องกันและจัดการความเสี่ยงด้านการทุจริต โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงและการควบคุมด้วยตนเองสำหรับกระบวนงานที่มีความเสี่ยงให้ครอบคลุมความเสี่ยงด้านการทุจริต ปฏิบัติตามนโยบายการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน รายงานความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต เพื่อรับเรื่องร้องเรียนการทุจริต การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของพนักงาน ตลอดจนสื่อสาร ให้ความรู้ และประกาศเจตจำนงสุจริตในการบริหารงานอย่างโปร่งใสเพื่อสร้างความตระหนักแก่พนักงานทุกระดับในองค์กร รวมทั้งทดสอบจริยธรรมและจรรยาบรรณของพนักงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ไฟล์แนบ
ชื่อไฟล์ | ดาวน์โหลด | วันที่สร้าง | |||
---|---|---|---|---|---|
การประเมินความเสี่ยงทุจริต.pdf
ขนาดไฟล์: 761.87 KB |
594 | 28 มิ.ย. 62 | |||
ข้อมูลเชิงสถิติเรื่องรอ้งเรียนการทุจิต ปี 2561.pdf
ขนาดไฟล์: 195.29 KB |
455 | 28 มิ.ย. 62 | |||
ข้อมูลเชิงสถิติข้อร้องเรียนทุจริต ปี 2563.pdf
ขนาดไฟล์: 100.83 KB |
316 | 30 มิ.ย. 63 | |||
รายงานการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ปี 2563.pdf
ขนาดไฟล์: 654.36 KB |
322 | 6 ก.ค. 63 | |||
รายงานการประเมินความเสี่ยงทุจริต ปี 2563_ผลการดำเนินงาน.pdf
ขนาดไฟล์: 755.74 KB |
321 | 6 ก.ค. 63 | |||
ข้อมูลเชิงสถิติข้อร้องเรียนทุจริต ปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.).pdf
ขนาดไฟล์: 186.50 KB |
73 | 29 เม.ย. 64 | |||
รายงานการประเมินความเสี่ยงทุจริต ปี 2564.pdf
ขนาดไฟล์: 391.33 KB |
80 | 30 เม.ย. 64 | |||
การดำเนินการเพื่อจัดการความเสี่ยงทุจริต ปี 2564.pdf
ขนาดไฟล์: 3.99 MB |
83 | 30 เม.ย. 64 | |||